วัดทัพคล้าย ต.ทัพลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ชุมชนไทขาวหรือลาวพุทธ

ชุมชนไทขาวหรือลาวพุทธ

ณ บ้านทัพคล้าย (Tupklai)

  ตำบลทัพหลวง  อำเภอบ้านไร่  จังหวัดอุทัยธานี

*****************

ข้อมูลเบื้องต้น

ปัจจุบัน  ชุมชนทัพคล้ายแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 4 หมู่บ้าน คือ

        1.  บ้านทัพคล้าย(หมู่ที่ 2 เดิมคือ บ้านทุ่งนา)

        2.  บ้านทุ่งนา(หมู่ที่ 6 เดิมคือ บ้านทัพคล้ายหรือบ้านใหญ่)

        3.  บ้านป่าบัว(หมู่ที่ 9 เดิมคือ บ้านป่าบัว)

        4.  บ้านภูจวง(หมู่ที่ 14 เดิมคือ บ้านเย่อ)

นับถือศาสนา : ศาสนาพุทธ

อาชีพ         : ทำนา  ทำไร่และทำสวน


ชุมชนทัพคล้าย : เรียกขานชื่อหมู่บ้านว่า “บ้านทัพคล้าย”  แต่เรียกขานนามชุมชนว่า “ชาวทัพค่ายหรือชุมชนไทขาว(ลาวพุทธ)แห่งอำเภอบ้านไร่”  มีวัด  หลวงปู่ยอด  หอเจ้านาย  และโรงเรียนเป็นศูนย์รวมจิตใจ


เอกลักษณ์

ภาษา          : พูดภาษาถิ่นลาวเวียงจันทร์ สำเนียงไทขาว(ลาวพุทธ) ภาษาที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะชุมชน  ส่วนภาษาที่ใช้ทั่วไปคือภาษาไทย

การแต่งกาย  : ผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นตีนแดงใส่เสื้อจากผ้าทอสีขาวหรือคราม  ผู้ชายนุ่งกางเกงที่ตัดเย็บจากผ้าทอ  และเสื้อที่ตัดเย็บจากผ้าทอทั้งสีขาวและคราม  (การแต่งกายทั่วไป : แต่งกายตามสมัยนิยม)

อาหาร         : อาหารหลักรับประทานข้าวจ้าว  น้ำพริกผักจิ่ม แกงป่า  ส่วนข้าวเหนียวใช้ทำขนมรับประทานและนำไปทำบุญ 

ดนตรี          : แคน  ซอ  กลองและซึง

การเล่นพื้นบ้าน : กูกคอน  จ้ำจี้หมากหมี้หมากมน  อ้ายโหม้งปิดตาและหมากรบเมียง

สัญลักษณ์    : ที่บ่งบอกความเป็นลาวพุทธ คือ ผ้าทอ ลายผ้าและฮีตคอง โดยเฉพาะลายบัวเคียที่ปรากฏอยู่บนผ้าห่มเอี้ยห้าและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

ฮีตคองและประเพณี : บวชพระ  ขึ้นบ้านใหม่  แต่งงาน พานแจก บุญข้าวสาก  บุญข้าวจี่ ข้าวประดับดิน  เลี้ยงบ้านปิดบ้าน  สรงน้ำเจ้าน้อย แห่ช้างดอกไม้ ปลุกทุง    ทำต้นดอกไม้ในพรรษา  บุญจุลกฐินและลอยกระทง 

คติพจน์       : รักสงบ  รักสนุก รักษ์วัฒนธรรมและรักยุติธรรม

วิสัยทัศน์     : ชุมชนสามัคคี กินอยู่ดี  ด้วยประเพณีและวัฒนธรรม

ดอกไม้ประจำชุมชน : ดอกจำปา

 

ประวัติ (โดยย่อ)

            ตามตำนานเล่าขานกันว่า  บรรพบุรุษชาวไทขาวถูกกวาดต้อนมาร่วมกับชาวลาวกลุ่มอื่นๆจากเวียงจันทร์ ประเทศลาว  ราวปี พ.ศ. 2321  ในสมัยกรุงธนบุรีตอนปลาย  มีฐานะเป็นเชลยศึก  ซึ่งถือว่าเป็นทาสในลำดับที่ ๖ ของไทย

            หลังจากสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีได้ประมาณ 4 ปี คือ ปี พ.ศ. 2328  ไทยได้ยกทัพมาต่อต้านทัพพม่าเมื่อครั้งสงครามเก้าทัพ  ณ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งบ้านทัพคล้ายปัจจุบัน   โดยได้เกณฑ์เอาชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมา  ทำหน้าที่เป็นลูกหาบและทหารแนวหน้า  ครั้นมาถึงพบว่าพม่าได้ทิ้งค่ายถอยทัพกลับไปแล้ว  จึงได้หยุดทัพตั้งค่ายรอดูสถานการณ์ระยะหนึ่ง

           เมื่อแน่ใจว่าทหารพม่าคงจะไม่กลับมาอีก จึงได้ยกทัพกลับเมืองหลวง  ให้ชาวลาวส่วนหนึ่งอาสาอยู่ทำหน้าที่เป็นกองสอดแนมและคอยส่งข่าว โดยมีนายทหารอยู่เป็นหัวหน้า  พร้อมพระสงฆ์ 1 รูปมีนามว่าพระยอด  

           กาลเวลาเนิ่นนานออกไป ประกอบกับนายทหารที่เป็นหัวหน้าได้เสียชีวิตลงทำให้ชาวลาวที่อยู่เป็นกองสอดแนมไม่มีโอกาสได้กลับเมืองหลวงเป็นแน่แท้ จึงได้เลือกผู้อาวุโสในกองสอดแนมคนหนึ่งขึ้นเป็นหัวหน้าแทน  และสร้างหอขึ้นทางด้านทิศตะวันออกของค่าย  อัญเชิญดวงวิญญาณของนายทหารที่เสียชีวิตสิงสถิตในหอเพื่อให้เป็นที่พึ่งทางใจสำหรับบรรดากองสอดแนมอีกทางหนึ่ง  โดยเรียกขานว่า “หอเจ้านาย” ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีปิดบ้านเลี้ยงบ้านจวบจนปัจจุบัน

           ในสมัยรัชกาลที่ ๓  ได้สั่งการให้สร้างเจดีย์และสร้างที่พักของสงฆ์แยกต่างหากจากค่าย  เพื่อให้พระยอดอยู่จำพรรษาเป็นที่พึ่งของกองสอดแนมตลอดไป  โดยผู้นำค่ายบอกแต่เพียงว่า ”การที่สร้างเจดีย์ขึ้นก็เพราะจะปิดฮูโตเงียกไม่ให้ขึ้นมากินคน” (ความจริงในสมัยรัชกาลที่ ๓  พม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ  ฝ่ายไทยเกรงว่าอังกฤษอาจจะผนวกเอาดินแดนแถบนี้เป็นของพม่าก็เป็นได้  จึงสั่งการให้สร้างเจดีย์ขึ้นเพื่อประกาศเขตแดนมากกว่า)      

           ครั้นรัชกาลที่ ๕  ประกาศเลิกทาสเมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๑๗  ทำให้เชลยชาวลาวมีสิทธิ์ในการตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากิน เรียนหนังสือ และปฏิบัติตามฮีตคอง ประเพณีของตนได้ แต่ต้องเสียค่าส่วยคนละ ๖ บาทต่อปี

           ในปี ๒๔๔๐      รัชกาลที่ ๕ ได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่รัตนโกสินทรศก ๑๑๖  พ.ศ. ๒๔๔๐  ทำให้ค่ายกลายเป็นชุมชนเรียกอาสากองสอดแนมว่า “ชาวทัพค่าย” ผู้เป็นหัวหน้ามีตำแหน่งเป็น “ขุน”  ปกครองชาวทัพค่ายชึ้นตรงต่อเมืองหลวงในขณะนั้น  ส่วนบริเวณที่สร้างเจดีย์และที่พักของพระยอดจึงมีฐานะเป็นวัดทัพค่ายไปด้วย

           ต่อมารัชกาลที่ ๖ ได้ประกาศใช้กฎหมายลักษณะปกครองท้องที่  พ.ศ. ๒๔๕๗ แทนพ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่รัตนโกสินทรศก ๑๑๖ พ.ศ. ๒๔๔๐ มีผลทำให้ฐานะของชุมชนทัพค่ายกลายเป็นตำบล ไปอยู่ในปกครองของอำเภอบ้านเชี่ยน จังหวัดไชยนาท สังกัดมณฑลนครสวรรค์ โดยตั้งชื่อตำบลว่า “ทัพหลวง” สำหรับผู้ที่มีวัฒนธรรมภาษาพูดต่างจากไทขาว  ได้พากันออกจากค่ายไปตั้งถิ่นฐานเป็นหมู่บ้านในที่ต่างๆ   คงเหลือไว้แต่กลุ่มไทขาวอยู่ในค่ายเพียงกลุ่มเดียว และในปี ๒๔๖๘ ได้ตัดพื้นที่ของตำบลทัพหลวง  ซึ่งก็คือชุมชนทัพค่ายมาสังกัดอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ครั้นได้ก่อตั้งเป็นชุมชนตามกฎหมายแล้ว  ชุมชนทัพค่ายรวมทั้งวัดทัพค่าย จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดและบ้านทัพคล้าย” จวบจนปัจจุบัน 

           ก่อนหน้าที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ จะอุบัติขึ้นในปี ๒๔๘๒ จอมพล ป. พิบูลย์สงคราม ได้ประกาศยกเลิกค่าส่วยไม่ต้องเสียค่าเชลยคนละ ๖ บาทกอีกต่อไป ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมารวมถึงชาวไทขาวด้วย จึงได้รับอิสรภาพไม่ต้องตกเป็นเชลยของไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  แต่ต้องเรียกขานชื่อชุมชนให้มีคำว่า “ไทย” นำหน้าเพื่อประกาศเขตแดนของไทย  ทำให้บ้านทัพคล้าย  เรียกขานตนเองว่า “ไททัพคล้าย”  จนทำให้ลูกหลานลืมไปว่าบรรพบุรุษของตนเองมีเชื้อสายเป็นลาวในที่สุด   

           การถูกระงับไม่ให้เรียกตนเองว่า “ลาว” นับแต่ปี ๒๔๘๒ เป็นต้นมา  เป็นช่วงเวลาที่บรรพบุรุษไม่สามารถที่จะบอกลูกหลานให้รู้ว่าตนเองคือไทขาวหรือลาวพุทธ  ทำได้แต่เพียงถักทอเป็นลายบัวเคียลงไว้ในผืนผ้าเท่านั้น   จวบจนเมื่อปี ๒๕๕๓ ท่านผู้รู้ที่เวียงจันทร์เล่าให้ผู้สืบค้น(นายวรวุฒิ  ทองสี) เมื่อครั้งตามหาบรรพบุรุษที่มีสำเนียงภาษาพูดอย่างทัพคล้ายที่เวียงจันทร์   จึงได้รู้ว่า สำเนียงที่พูดอย่างทัพคล้ายนี้มีอยู่ที่ประเทศลาวและเวียตนาม  ซึ่งเป็นชนเผ่าหนึ่งในกลุ่มลาวลุ่มของประเทศลาว   และการที่ได้ชื่อว่าลาวพุทธก็สืบเนื่องมาจากเมื่อครั้งที่พระเจ้าไชยเชษฐาปกครองเวียงจันทร์ ได้ประกาศให้ประชาชนนับถือพุทธศาสนาแทนการนับถือผี และถือเอาพุทธศาสนาเป็นการประกาศอาณาเขต  โดยได้ส่งกลุ่มไทขาวจากเวียงจันทร์ไปอยู่ตามแนวชายแดน  และให้เรียกตนเองว่าลาวพุทธนับแต่นั้นเป็นต้นมา  จากการตามหาบรรพบุรุษดังกล่าว ทำให้ลูกหลานในปัจจุบันได้รู้ว่าตนคือ “ไทขาวหรือลาวพุทธ” อีกครั้งหนึ่ง

 ...................................................


          หมายเหตุ  ในคราวที่ไปตามหาบรรพบุรุษเมื่อปี ๒๕๕๓  ที่เวียงจันทร์  ได้พูดคุยกับท่านผู้รู้ท่านหนึ่ง(อายุ  ๘๐ กว่าปี  อดีตครูสอนนักเรียนเมื่อครั้งก่อนจะเกิดสงคราม)ท่านได้ถามว่า  “กินเข้ามื่อหยัง”  ตอบเพิ่นว่า  “กินเข้าเจ้า”  ท่านถามต่อว่า  “ส่วนเข้าเหนียวปลูกเอาไว้เฮ็ดเหล้าเฮ็ดข้าวหนมกินแม่นบ่อ”  ตอบเพิ่นว่า  “แม่นแล้ว”  ท่านจึงบอกให้ฟังว่า  บรรพบุรุษของหลานคงอยู่ในเวียงจันทร์ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช  เพราะในสมัยนั้นพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชได้ให้ผู้ที่อยู่ในเวียงวังปลูกเข้าเจ้าเอาไว้กินอย่างไทยสำหรับเข้าเหนียวปลูกเอาไว้ประกอบพิธีกรรม  คือเอาไว้เฮ็ดเข้าหนม  เฮ็ดเหล้า  เอาไว้เฮ็ดเข้าหนมในงานบุญในเทศการต่างๆ  เมื่อไทยยกทัพมาตีเวียงจันทร์ จึงได้ทืกกวาดต้อนไปพร้อมกับพระแก้วมรกตอย่างแน่นอน  ทำให้บ่อกินเข้าเหนียวเป็นหลักนั่นเอง ท่านได้กล่าวไว้ในที่สุด

หลักฐานที่สนับสนุนว่าชาวทัพคล้าย

มาจาก “ประเทศลาว” (เวียงจันทร์และหลวงพระบาง)ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีและถูกเกณฑ์มาต่อต้านพม่าในสมัยพระพุทธยอดฟ้า ณ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งบ้านทัพคล้ายในปัจจุบัน


หลักฐานที่บรรพบุรุษของชาวทัพคล้ายรักษาไว้เป็นมูลเป็นมังสืบต่อกันมา

  


เงินฮ้อย (เงินโบราณของลาว)

 

เงินฮาง (เงินโบราณของลาว)

 

อูบสีเพิ่งทาปากสมัยหลวงพระบาง

 

เงินพสด้วงเงินโบราณของไทยนสม้ยรัตนโกสินทรตอนต้น

 

          *หลักฐานที่ระบุว่าเป็น“ชาติลาว ในบังคับสยาม”

*ลายนาคในผืนผ้าทอของบ้านทัพคล้าย อันเป็นสัญลักษณ์ของประเทศลาว”

 

            *หนังสือลาวโบราณที่ปรากฏอยู่ ณ บ้านทัพคล้าย

* พระพุทธรูปไม้ที่วัดทัพคล้าย

 

* ประวัติหลวงปู่ยอด

    

     

สิ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นลาวและตัวตน

* การเลี้ยงหอเจ้านายเพื่อระลึกถึงบุญคุณของบรรพบุรุษตามธรรมเนียมโบราณที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา

* ลายบัวเคียในผ้าห่มเอี้ยห้า ของชุมชนทัพค่าย  ที่บ่งบอกถึงความเป็น “ลาวพุทธ”


* การตั่มหูก(ทอผ้า)ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากแม่สู่ลูกจากลูกสู่หลาน

      

กิจกรรมที่บ่งบอกถึงความเป็น “ลาวพุทธ”

 

แห่ช้างดอกไม้ไปวัดเพื่อขอขมาพระสงฆ์ในตอนเย็นทุกวันระหว่างสงกรานต์

* เมื่อถวายช้างดอกไม้แล้ว พระสงฆ์ ท่านก็จะแสดงการยกโทษด้วยการหยาดน้ำและให้พร

  

   

 

    

      

* การปลุกทุงจะปลุกในวันสุดท้ายของสงกรานต์ เวลา  ๐๙.๐๐ น.

เมื่อปลุกทุงแล้วก็จะนิมนต์พระสงฆ์มาหยาดน้ำและให้พรจนครบทุกต้น

ตอนเย็นก่อพระเจดีย์ทราย

        

ถวายต้นดอกไม้ในพรรษาเพื่อเป็นพุทธบูชาในวันพระ(ขึ้น/แรม ๑๕ ค่ำ)

 

ทอผ้าจีวร สบง และอังสะเพื่อถวายเป็นผ้าจุลกฐิน หลังออกพรรษาแด่พระสงฆ์

(กิจกรรมส่วนใหญ่มักจะกระทำเพื่อเป็นพุทธบูชาทั้งสิ้น)



 เอกสารอ้างอิง

“ที่บ่งบอกว่าชาวทัพค่ายคือไทขาวหรือลาวพุทธ”

           (๑)   ผลงานวิจัย “คนไทแดงในแขวงหัวพัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ” ของรองศาสตราจารย์สุมิตร  ปิติพัฒน์และคณะ ปี ๒๕๔๓-๒๕๔๖

 

                  (๒)   วารสารเที่ยวเมืองลาว  พฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๕๐   ได้นำเอาผลการสำรวจของคณะค้นคว้าสังคมลาวที่ขึ้นกับศูนย์กลางแนวลาวรักชาติ   เมื่อปี ๒๕๑๓ ตีพิมพ์เผยแพร่ความว่า   “ไทขาว”   เป็นชนเผ่าหนึ่งใน  ๑๒ ชนเผ่าของลาวลุ่มแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว”

              (๓)  ประวัติชุมชนชาวทัพคล้าย  , นายวรวุฒิ  ทองสี  ,  พ.ศ. ๒๕๓๘  และจากพงศาวดารเมืองไล  ในประชุมพงศาวดารภาคที่ ๙  ของกรมศิลปากร  กล่าวว่า  แต่เดิมในเขตสิบสองจุไทได้แบ่งการปกครองเป็นสิบสองหัวเมืองหลัก   ซึ่งต่างเป็นอิสระต่อกัน  ประกอบด้วยหัวเมืองของผู้ไทขาว(ผู้  แปลว่า คน)  ๔  เมือง คือ  เมืองไล  เมืองเจียน  เมืองมุน  และเมืองบาง นอกจากนี้ยังมีเมืองของผู้ไทดำอีก  ๘  เมือง  คือ เมืองแถง เมืองควาย  เมืองถุง  เมืองม่วย  เมืองลา  เมืองโมะ  เมืองหวัด(ว้าด)  และเมืองซาง  รวมเป็น ๑๒ เมือง  ตั้งอยู่ในแถบแม่น้ำดำและแม่น้ำแดง

             ปัจจุบัน    อยู่ใน    “เดียนเบียนฟู”       ของประเทศเวียตนามซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของหลวงพระบาง  และซำเหนือ     ประเทศลาว 



**************

สืบค้นและเรียบเรียงโดย

นายวรวุฒิ   ทองสี  ทัพคล้าย  ต.ทัพหลวง  อ.บ้านไร่  จ.อุทัยธานี 


view