วัดทัพคล้าย ต.ทัพลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ประวัติหลวงปู่ยอด

ลุงก่าน เพ็งอุ่น(ลุงเปาะ) เล่าตามคำบอกเล่าของแม่ท่านและตามคำที่ปู่ย่าตาทวดที่เล่าต่อ ๆ กันมาว่า เมื่อครั้งที่อยู่บ้านเก่าที่วัดจะมีศาลา “หลวงตายอด” ตั้งอยู่ที่วัดเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านทุกคน  หลวงตายอดเป็นพระชาวเขมรที่เข้าไปอยู่ที่เวียงจันทร์ ซึ่งท่านมีคาถาอาคมที่เก่งกล้า  ครั้นเวียงจันทร์บ้านแตกสาแหลกขาดและทหารไทยได้กวาดต้อนเอาชาวลาวมาเป็นเชลย  ท่านจึงถูกนิมนต์ให้เดินทางมาด้วย   เพื่อปกป้องคุ้มครองระหว่างที่เดินทาง

ต่อมา  ชาวลาวได้ถูกเกณฑ์เป็นทหารแนวหน้าและลูกหาบเพื่อต่อต้านทัพพม่า  ณ ดินแดนอันเป็นที่ตั้งบ้านทัพคล้ายแห่งนี้ท่านจึงถูกนิมนต์ให้เดินทางอีกครั้งเพราะการเดินทางในสมัยก่อนจะต้องผ่านป่าผ่านเขา  ผ่านดินแดนที่มีผีป่าผีเขาสัตว์ดุร้ายมากมาย  อีกทั้งไข้ป่าสารพัดและไม่รู้ว่าจะเจออุปสรรคอะไรบ้าง   เพื่อให้ท่านทำน้ำมนต์ประพรมให้เป็นสิริมงคลและมีความปลอดภัยในการเดินทาง  รวมทั้งเพื่อให้ท่านสวดมนต์ภาวนาขับไล่ผีร้าย  ภยันตรายต่าง ๆ ไม่ให้มากล้ำกลายและดูทิศ  ดูทาง  ดูฤกษ์ ดูยามในการค้างแรมและเดินทางในแต่ละวัน

นายบุญทา  จันทสี, นายพา  ทองสีและนายทองดำ  จันทร(อดีตเจ้าอาวาสวัดทัพคล้าย)  ได้เล่าให้ฟังตามที่ได้ฟังมาอีกต่อหนึ่งก็สรุปได้ความว่า การมาต่อต้านทัพพม่าที่บ้านเก่ามีพระมาด้วยองค์หนึ่งท่านชื่อ “ยอด”  แต่รุ่นปู่ย่าตาทวดที่เล่าให้ฟังท่านก็บอกว่าไม่เคยเห็นเช่นกัน  แต่ที่ปรากฏหลักฐานก็คือจะมีศาลาปลูกไว้ที่วัดใกล้กับเจดีย์  ซึ่งเรียกกันจนติดปากว่า  “ศาลาหลวงตายอด”  เมื่อย้ายวัดมาอยู่ที่แห่งใหม่ก็ได้ย้ายศาลาหลวงตายอดมาด้วยเพราะถือท่านว่า “ท่านคือเจ้าวัดของวัดทัพคล้ายนั่นเอง”

ส่วนนางกลม  (แม่ของพ่อทิดลอน) ได้เล่าประวัติให้นายทา  จันทสี  ฟังว่าหลวงปู่ยอดเป็นพระเขมรมาเป็นสมภารที่วัดทัพคล้าย  (เป็นวัดเก่าอยู่ทางทิศใต้ของวัดปัจจุบัน)  สมัยนั้นมีสินน้ำ (สายน้ำ) สำหรับลงโบสถ์ท่านเป็นพระผู้เฒ่าชอบการละเล่นแข่งกลองเป็นต้น  และในขณะนั้นมีเด็กที่ชอบเล่นน้ำอยู่เป็นประจำและก็มาเล่นใกล้วัดเป็นประจำทุกวัน  หลวงปู่ยอดได้ดุด่าว่ากล่าวเสมอก็ไม่ฟัง  ท่านเลยได้พูดว่า  กูตายไปจะมาทัก  มาทอ (ภาษาถิ่น)  พวกนี้ให้สมใจ  เมื่อมรณะภาพแล้ว ก็ได้อาศัยอยู่ในวัดมาโดยตลอด เรียกว่าเป็นเจ้าวัด  ปัจจุบันใช้ผ้าไตรแก้บน และสำหรับคาวหวาน

ท่านชอบการกีฬามาก เช่นการแข่งขันตีกลอง  กีฬาของเด็ก  ถ้าเด็กไปแข่งขันกีฬาที่ไหนก็มักจะไปด้วยโดยการบอกกล่าวให้ทราบก่อน  และมักได้รับชัยชนะโดยมาก  นี้เป็นความเชื้อที่เกิดขึ้น

ท่านอยู่กับวัดทัพคล้ายมาไม่น้อยกว่า  ๒๐๐  ปี ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์   ชอบอยู่ในที่สงบย้ายที่อยู่อาศัยไปในที่ต่าง ๆของวัดอยู่เสมอ      ปัจจุบันได้สร้างที่อาศัยให้อยู่ทางทิศตะวันออกของวัด (พ.ศ. ๒๕๔๐)  เพื่อเป็นที่สักการะของผู้ที่เคารพนับถือต่อไป

ปัจจุบันลูกหลานต่างพร้อมกันเรียกท่านว่า “หลวงปู่ยอด” สำหรับเจดีย์ที่วัดเก่าเป็นแบบเจดีย์ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ซึ่งปรากฏให้เห็นมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๗  ปัจจุบันได้ปรักหักพังไปตามกาลเวลา  คงเหลือไว้แต่อิฐที่ใช้ในการก่อสร้างบางส่วนเท่านั้น

หมายเหตุ  ตรวจสอบจากประวัติศาสตร์ของไทยและของลาวแล้ว  ต่างเขียนไว้ตรงกัน คือ ปีที่ถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทร์ ได้แก่ปี พ.ศ. ๒๓๒๑ ส่วนปีที่เดินทางมาต่อต้านทัพพม่า ณ ที่บ้านทัพคล้ายแห่งนี้  ตามประวัติศาสตร์ชาติไทยระบุไว้คือ ปี พ.ศ. ๒๓๒๘  เมื่อครั้งสงครามเก้าทัพ

ประวัติหลวงปู่ยอดที่น่าสนใจ

๑.  ท่านเมตตาต่อเด็กที่เกิดใหม่  ถ้ามีเด็กที่เกิดใหม่ในหมู่บ้านท่านจะไปดูและทักทายแสดงความเมตตา ทำให้เด็กตื่นตกใจร้องไห้  พ่อแม่หรือญาติต้องจุดธูปบอกกล่าว  เด็กจึงหยุดร้องไห้

๒.  ท่านเมตตาต่อเด็ก เมื่อนักเรียนจะเดินทางไปแข่งขันกีฬาที่ใดก็มักจะไปจุดธูปบอกกล่าวกราบไหว้ให้แข่งขันชนะและปลอดภัย มักจะได้ตามที่ขอเสมอ   การแข่งขันกีฬาเสร็จแล้วนักเรียนก็จะนำถ้วยมารำถวาย

๓. ท่านชอบความบันเทิง เมื่อจุดธูปเทียนบอกกล่าวแล้วเชิญไปด้วยในการแข่งขันกีฬาตีกลอง  สมัยโบราณแข่งขันตีกลองแต่ละหมู่บ้าน บ้านทัพคล้ายได้รับชัยชนะเพราะตีเสียงดังกว่าหมู่บ้านอื่น

๔.  ท่านไม่ชอบการแสดงความไม่เคารพนับถือ เช่น การลบหลู่ดูหมิ่น เป็นต้น  เมื่อสมัย ๓๐ หรือ ๔๐ ปีที่ผ่านมา  ถ้าผู้ใดลบหลู่ท่านด้วย ปาก้อนดินก้อนหิน ยิงหนังสติ๊กข้ามศาลาของท่าน  จะมีอาการปวดท้องทันทีทันใดไม่หายจนกว่าจะจุดธูปเทียนบอกกล่าวขอขมาแล้วจึงจะหาย ส่วนมากจะเป็นเด็กเพราะยังไม่ทราบเรื่องของท่านจึงไม่ค่อยเคารพนับถือ  ปัจจุบันได้ย้ายศาลาของท่านไปอยู่ในที่สงบเหมาะสมห่างจากสิ่งรบกวนต่าง ๆ  และได้เนินการก่อสร้างมณฑปเป็นที่อยู่ใหม่แต่ยังไม่แล้วเสร็จ

๕.  คาถาอาคม  เมื่อครั้งถูกกวาดต้อนมาจากเวียงจันทร์ (พ.ศ. ๒๓๒๑) และเดินทางมาต่อต้านทัพพม่า ณ ที่บ้านทัพคล้ายแห่นี้ ผู้ที่เดินทางมา ๆ ย่อยมีภัยต่าง ๆ เช่น ภัยจากโรคภัยไข้เจ็บ  ภายจากภูตผีปีศาจ  เป็นต้น ต้องอาศัยพระสงฆ์เป็นหลักเป็นกำลังใจ ต้องอาศัยผู้ที่มีวิชาอาคมป้องกันภัยให้  พระจึงเป็นที่พึ่งได้ดีที่สุด  ทั้งเป็นหมอยาและรักษาใจ  คือ  ใช้คาถาอาคมที่เล่าเรียนมาช่วยให้กำลังใจ ดังเช่นชาวบ้านบางระจัน  ก็มีพระให้กำลังใจในเมื่อรบกับพม่า  หลวงปู่ยอดก็เป็นพระอีกรูปหนึ่งที่มีวิชาอาคมในสมัยนั้น (๒๐๐ กว่าปีมาแล้ว)

ผู้ที่จะเข้าวัดเป็นนาคเพื่อบรรพชาอุปสมบทต้องจุดธูปเทียนบอกกล่าวทุกคนเพราะถือว่าเป็น “เจ้าวัด” เหมือนเจ้าอาวาสและต้องบอกกล่าวก่อนเมื่อมีการแสดงการละเล่นมหรสพ  เครื่องไฟขยายเสียง  ถ้าไม่บอกกล่าวก่อนจะดำเนินการไปได้ไม่ดีจนหาสาเหตุไม่เจอ

ครั้งสุดท้ายวันที่  ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๕๔  มีขโมยมาลักรูปหล่อลอยองค์ของหลวงปู่ยอดที่โบสถไปในเวลากลางคืน  และจับได้ในวันที่ ๑๑ กรกฎาคม  ๒๕๕๔เวลา ๘.๓๐ น. ที่วัดถ้ำพระธาตุเมืองเทพเพราะไปขโมยเงินที่วัดถ้ำพระธาตุเมืองเทพอีก  ปัจจุบันขโมยที่กล่าวมานี้ได้ถูกคุมขังอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านไร่  แสดงว่าหลวงปู่ยอดไม่ยินดีและทำให้วัดได้รับของกลับคืนเพื่อเป็นที่เคารพสักการะต่อไป ปี ๒๕๕๔ ได้จัดสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรก ชื่อว่า “รุ่นจากร้ายกลับกลายเป็นดี”

.

view