วัดทัพคล้าย ต.ทัพลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

เริ่มจากเวียงจันทน์

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ได้เขียนเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้ในหนังสือ “เจ้าชีวิต”  ซึ่งพอจะใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงถึงการเดินทางมาจากหลวงพระบางและเวียงจันท์ของเมืองลาวของชาว “ทัพคล้าย” หรือชาวทัพค่าย ฟังได้ว่า บรรพบุรุษของชาวทัพคล้ายถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยศึก และเกณฑ์เอามาเป็นลูกหาบขนเสบียงและสิ่งของกลับเมืองไทยเมื่อครั้งที่พระพุทธยอดฟ้าฯ เป็นทหารเอกของพระเจ้าตากสินยกกองทัพไปปราบเมืองหลวงพระบางและเวียงจันทร์เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๘  (ค.ศ.๑๗๗๕)  และมาพักอยู่ในเมืองหลวงเป็นเวลาประมาณ ๑๐ ปี

เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๒๙  พระพุทธยอดฟ้าฯ คุมกองทัพมาต้านพม่าทางด้านทิศตะวันตกจึงได้เกณฑ์ เชลยที่กวาดต้อนมาในครั้งกระนั้นเพื่อเป็นทหารแนวหน้าและเป็นลูกหาบขนเสบียงอาหาร ครั้นยกทัพกลับเมืองหลวงจึงได้ให้เชลย  และลูกหาบอยู่แนวหน้าคอยเป็นกองสอดแนมเพื่อส่งข่าวข้าศึกให้กับกองทัพฝ่ายไทย  เวลานานวันผ่านไปจึงได้รวมกันเป็นชุมชนและไม่กลับไปยังเมืองหลวงอีก ดังนั้นชนเผ่าไทยที่เดินทางมาจากเวียงจันท์และหลวงพระบาง จึงถือกำเนิดขึ้น ณ ดินแดนแห่งนี้ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาถ้านับรวมถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๕ เท่ากับว่าเดินทางมาจากเวียงจันท์เมื่อ  ๒๒๖ ปีที่แล้ว และถ้าคิดการเดินทางตั้งแต่พระพุทธยอดฟ้า ฯ  เดินทัพมาก็เท่ากับว่าเป็นเวลาถึง ๒๑๖ ปี

เหตุผลอื่นที่สนับสนุนว่ามีการเดินทัพมาต้านทัพพม่าดังอ้างอิงไว้ข้างต้น

(๑)  ตั้งแต่อำเภอหนองหญ้าไซ   อำเภอด่านช้าง   จังหวัดสุพรรณบุรี  และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี  มีคำว่า “ทัพ” นำหน้าชื่อหมู่บ้าน   เริ่มที่วัดทัพหลวง อำเภอหนองหญ้าไซ   ขึ้นไปที่หมู่บ้านทัพละคร  หมู่บ้านทัพผึ้ง อำเภอด่านช้าง  และหมู่บ้านทัพไฟไหม้ หมู่บ้านทัพหมัน หมู่บ้านทัพคล้าย หมู่บ้านทัพหลวง อำเภอบ้านไร่  จังหวัดอุทัยธานี  ทั้งนี้เพราะในสมัยโบราณการตั้งชื่อหมู่บ้านก็ดี การตั้งชื่อลูกก็ดี  แม้แต่การตั้งชื่อ ช้าง ม้า วัว ควาย ก็ดี มักตั้งตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหรือที่มีอยู่ในขณะนั้น  เช่น  อพยพไปตั้งบ้านเรือนใกล้ลำห้วย หนอง  คลอง บึง ก็จะมีคำนำหน้าว่า “ห้วย  หนอง  คลอง  บึง” นำหน้าเพื่อเป็นอนุสรณ์และให้ความเคารพต่อสถานที่ ดังนั้นการที่ตั้งชื่อหมู่บ้านมีคำว่า “ทัพ”  นำหน้าย่อมเป็นข้อสันนิษฐานได้ว่ามีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเดินทัพมาตามเส้นทางผ่านหมู่บ้านดังกล่าวอย่างแน่นอน

(๒) มีผู้ขุดดินพบดาบ  ของ้าว และหินบดยาในท้องที่หมู่บ้านทัพคล้าย ซึ่งสอดรับกับคนเฒ่าคนแก่เล่าสืบต่อกันมาว่ามีร่องรอยของการตั้งค่ายทหาร ที่บริเวณที่เรียกว่านาห้วยไฮ   ของหมู่บ้านทัพคล้าย   ซึ่งทายกสี  ทายกที ทายกทอง  ต่างบอกเล่าให้ฟังว่า “ทัพคล้าย” มาจากคำว่า “ค่าย”  หมายถึงค่ายทหาร แต่เดิมทีที่ตั้งหมู่บ้านเรียกขานนามว่าหมู่บ้านว่า “บ้านทัพค่าย” ต่อมาเมื่อทางการเข้ามาสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้าน และได้บอกชื่อหมู่บ้านเป็นสำเนียงภาษาถิ่น ทางราชการคงฟังสำเนียงท้องถิ่นจาก “ทัพค่าย”  เป็น “ทัพคล้าย”  ดังที่ปรากฏจนถึงปัจจุบัน

(๓) คนเฒ่าคนแก่  ตลอดจนนายพา  ทองสี  นายบุญทา  จันทสี  ได้เล่าให้ฟังว่าที่วัดทัพคล้ายแต่เดิมเมื่อครั้งที่ย้ายมาจากบ้านเก่าได้ย้ายเสาหงส์มาไว้ที่วัดแห่งนี้ด้วย  ต่อมาเมื่อชำรุดหักพังลงจึงไม่มีใครคิดสร้างเสาหงส์ขึ้นอีก  โดยเฉพาะท่านพระครูอุเทศธรรมนิวิฐ (หลวงพ่อบุญสม  สิริทินฺโน)  เจ้าคณะอำเภอบ้านไร่องค์ปัจจุบันก็ให้การยืนยันว่าเคยมีเสาหงส์ที่วัดทัพคล้ายจริง และสอดคล้องกับข้อเขียนของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมทย์ ที่ว่าพม่าเดินทัพไปตั้งค่ายหรือเข้ายึดได้ที่ใดก็มักจะปักเสาหงส์ไว้ที่นั่น ดังนั้น จึงเป็นที่เชื่อได้ว่าพม่าเดินทัพมาหยุดที่หมู่บ้านทัพคล้ายแห่งนี้จึงได้ปักเสาหงส์ไว้  เมื่อข่าวทราบถึงพระพุทธยอดฟ้า ฯ พระองค์จึงได้คุมทัพขึ้นมาต้านทัพพม่าตามเส้นทางเดินทัพดังกล่าว

ข้อที่ชวนให้คิด  “ทัพหลวง ของไทยเข้าใจว่าน่าจะอยู่ที่วัดทัพหลวง  อำเภอหนองหญ้าไซ จังหวัดสุพรรณบุรีส่วนที่หมู่บ้านทัพหลวง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี  น่าจะเป็นทัพหลวงของพม่าเพราะที่หมู่บ้านทัพคล้ายมีเสาหงส์แสดงว่าเป็นที่ตั้งค่ายทัพหน้าของพม่า ส่วนที่ทัพหมันหรือทัพมั่นน่าจะเป็นทัพหน้าของไทย ต่อมาเมื่อพม่าถอยกลับบรรพบุรุษของชาวทัพคล้าย  ซึ่งเป็นกองสอดแนมจึงได้เข้ามาแทนที่ “พม่า”

(๔) นายดง  จันทร  อดีตพรานป่าเล่าให้ฟังว่า  ในป่าลึกเข้าไปจากหมู่บ้านทองหลางปัจจุบันมีหนองน้ำอยู่แห่งหนึ่งชาวกระเหรี่ยงเรียกว่า “สโตง” ซึ่งเป็นภาษาพม่า ในสมัยเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้วยังปรากฏมีข้อความเป็นภาษาพม่าสลักไว้ที่ไม้ใหญ่ข้างหนองน้ำ  เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่พรานป่าชอบเดินไปล่าสัตว์เดินทางได้อย่างสะดวกจนถึงพม่าเลยทีเดียว  นอกจากนี้ในถ้ำตามเส้นทางนี้ยังมีผู้พบพระพุทธรูปอยู่ตามถ้ำด้วย  แต่ปัจจุบันได้อันตรธานไปจากถ้ำหมดแล้ว  เป็นที่ทำให้เชื่อว่าพม่าใช้เส้นทางนี้เดินทัพมาจนถึง “ทัพค่าย”  หรือทัพคล้ายแห่งนี้

(๕) คนเฒ่าคนแก่เคยเล่าให้ฟังตามที่ปู่ย่าตายายเล่าต่อกันมาว่าเมื่อครั้งที่อยู่บ้านเก่าที่วัดจะมีศาล “หลวงตายอด” ตั้งอยู่ที่วัดเป็นที่เคารพของชาวบ้านทุกคน ผู้เล่าได้บอกว่า “หลวงตายอด”   ท่านเป็นชาวเขมร และเมื่อศึกษาจากหนังสือ “เจ้าชีวิต” ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์  ทำให้ทราบเรื่องราวอันอาจเกี่ยวข้องกับหลวงตายอด  กล่าวคือเมื่อปี  ๒๓๒๔ ( ค.ศ.๑๗๘๑ )  เกิดกบฏขึ้นในประเทศกัมพูชา  พระเจ้าตากสินจึงทรงส่งทัพใหญ่ไปกัมพชาโดยมีเจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพไปปราบกบฏ  และจัดการเลือกเจ้าเขมรเสียใหม่  จึงทำให้เชื่อว่าเมื่อยกทัพกลับเมืองไทยก็ทรงกวาดต้อนเอาชาวเขมรมาเป็นเชลยศึกรวมทั้งนิมนต์พระร่วมเดินทางเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจแก่เชลยศึกด้วย

ตามธรรมเนีบมโบราณการเดินทัพไปรบข้าศึกก็มักจะนิมนต์พระร่วมเดินทางไปด้วยเสมอเพราะการเดินทัพในสมัยก่อนจะต้องผ่านป่าเขาลำเนาไพร ผ่านดินแดนที่มีผีป่าผีเขามากมาย  เพื่อให้พระทำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมให้กับทหารและผู้ร่วมเดินทางมีขวัญกำลังใจเข้มแข็ง และสวดมนต์ภาวนาขับไล่ผีร้ายต่างๆ  ตลอดจนดูฤกษ์ยามในการเข้าโจมตีข้าศึก เป็นต้น

จากการสอบถามนายบุญทา  จันทสี  และนายพา  ทองสี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๕ ท่านทั้งสองก็เล่าในทำนองเดียวกันและตามที่พ่อแม่ฟังต่อ ๆ กันมาจากปู่ย่าตายายเล่าให้ฟังว่า  “การเดินทัพในครั้งนั้นมีพระมาด้วยองค์หนึ่งท่านชื่อ “ยอด” แต่รุ่นปู่ย่าที่เล่าให้ฟังท่านก็บอกว่าไม่เคยเห็นเช่นกัน แต่ที่ปรากฏหลักฐานก็คือจะมีศาลปลูกไว้ที่วัดตั้งแต่เมื่ออยู่ที่วัดเก่าเรียกว่า “ศาลหลวงตายอด” หรือ “ศาลหลวงปู่ยอด” และเมื่อวัดย้ายมาอยู่ที่แห่งใหม่อันเป็นที่ตั้งวัดทัพคล้ายในปัจจุบันก็ปรากฏศาลหลวงตายอดหรือศาลหลวงปู่ยอดให้เห้นเป็นที่เคารพสักการะมาจนถึงทุกวันนี้

แม้แต่รุ่นลูกหลานของชาวทัพคล้ายอพยพไปทำมาหากินที่อื่น เช่น ที่หมู่บ้านสระนำ ซึ่งอยู่ลึกเข้าไปทาง ทิศตะวันตกของอำเภอบ้านไร่ก็ยังนิมนต์หลวงตายอด  หรือ  หลวงปู่ยอดไปด้วยดังปรากฏหลักฐานศาลหลวงตายอดหรือหลวงปู่ยอดให้เห็นอยู่ทุกวันนี้เช่นกัน

ดังนั้น จึงทำให้เชื่อว่าการเดินทัพมาต่อต้านพม่าดังที่ได้กล่าวแล้ว และเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวที่เกี่ยวกับชาวทัพคล้ายและประวัติความเป็นมาของหลวงตายอด  หรือหลวงปู่ยอดอันเป็นที่เคารพกราบไหว้ของชาวทัพคล้ายมาจนทุกวันนี้


เส้นทางการเดินทัพ


ชุมชนเชื้อสายลาวกลุ่มวัฒนธรรมไทครั่ง (ลาวครั่ง ลาวเวียง ลาวกา) จากคำบอกเล่าสืบทอดกันต่อมาว่า  แต่เดิมบรรพบุรุษของตนตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและเวียงจันท์

ชุมชนลาวครั่งที่  บ้านทัพคล้าย  บ้านทุ่งนา บ้านทัพหลวง (อุทัยธานี)  บ้านเนินขาม – บ้านกุดจอก (ชัยนาท) เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีววัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ที่ส่อเค้าสืบเชื้อสายมาจาก “ลาว” แห่งอาณาจักรศรีสัตนาคนหุต  ชาวลาวสามบ้านแรกเรียกตนเองว่า “ลาวเวียง” (หรือลาวเวียงจันท์) ส่วนชาวบ้านกุดจอกจะเรียกตนเองว่า  “ลาวคั่ง/ลาวครั่ง”  ปัจจุบันถูกเรียกหรือเข้าใจว่าเป็น “ลาวครั่ง”  ทั้งหมด

มีผู้สันนิษฐานว่าบรรพบุรุษของ “ลาวครั่ง”  ตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เทือกเขาภูคัง/ภูครัง   ประเทศลาว และอีกแนวสันนิษฐานว่า เมื่อครั้งทัพสยามกวาดต้อนลาวกลุ่มนี้มาและให้พักที่ด่านชั่วคราว  พวกลาว   อดอยากมาก และไม่มีเครื่องมือทำนา  จึงได้เลี้ยงครั่งตามอาชีพเดิมที่ตนถนัด  จึงทำให้ชาวสยามเรียกลาวกลุ่มนี้ว่า  “ลาวครั่ง” หรือ “ลาวขี้ครั่ง”  ตามวิชาชีพที่ติดตัวมาแต่เดิม

ลักษณะทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของ “ลาวเวียง”  “ลาวกา” หรือ “ลาวกาว” ที่เกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดคือ การรู้จักเลี้ยงครั่งแล้วนำผลผลิตจากครั่งมาย้อมเส้นใยไหม เพื่อใช้ในการทอผ้า    ชาวลาวเชื้อสายนี้มีความโดดเด่นด้านการทอผ้าไหมสีแดงสด หรือแดงคล้ำเป็นองค์ประกอบทางสีที่สำคัญ  ผ้าไหมของลาวครั่ง มีทั้งลายจก และผ้ามัดหมี่ ผสมผสานกันในผืนเดียว และสามารถจกลายให้มีสีตัดกันได้โดดเด่นพอ ๆ กับมัดหมี่แบบผสม  มีทั้งเฉดสีแดง(ครั่ง) และเฉดสีน้ำเงิน(คราม) ตัดกันหรือสลับสีกันได้อย่างสวยงาม

ลวดลายขิด  จก  และมัดหมี่ ของลาวครั่ง มีลายขอ  ลายนาค  ลายกาบ  เป็นลายหลัก  ซึ่งเป็นลวดลายเก่าแก่ที่สืบทอดจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน

พระธาตุหลวง เวียงจันทน์

.

view