วัดทัพคล้าย ต.ทัพลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

การสร้างรูปเหมือนเจ้าบ้าน


ประวัติของเจ้าบ้าน

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์บ่งชี้ให้เห็นว่า ดินแดนแห่งบ้านทัพคล้ายแห่งนี้  เคยเป็นที่ตั้งของกองทัพเมื่อครั้งสมัยรัชกาลที่  ๑  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์   โดยเมื่อครั้งกระนั้นได้ยกทัพมาต่อต้านพม่าประมาณปี พ.ศ. ๒๓๒๙  หรือเมื่อประมาณ  ๒๑๗  ปีที่แล้ว  ครั้นเสร็จสิ้นสงครามทางกองทัพได้แต่งตั้งให้นายทหารและนิมนต์พระรูปหนึ่ง  (ปัจจุบันคือหลวงปู่ยอด)   เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้นำกองอาสาสมัครอยู่สอดแนมข้าศึก   นายทหารผู้นี้ทำหน้าที่เป็นทั้งทหารและผู้ปกครองกองอาสาสมัครซึ่งผู้ที่อาสาสมัครเป็นกองสอดแนมในครั้งกระนั้นก็คือบรรพบุรุษของชาวทัพคล้ายในปัจจุบันนี้เอง     เมื่อเสียชีวิตลงทุกคนต่างพร้อมใจกันสร้างหอ (คำว่า “หอ”หรือ “ศาล”  หมายถึงบ้านหรือที่พักอาศัย) ขึ้น แล้วเชิญท่านมาสถิตย์อยู่ที่หอแห่งนี้  เพื่อเป็นหลักและปกป้องคุ้มครองทุกคนให้อยู่ดีมีสุข    มิให้ภยันตรายใดๆมากล่ำกลาย    นอกจากนี้ท่านยังเป็นศูนย์รวมแห่งจิตใจของทุกคนให้รักใคร่กลมเกลียวสมัครสมานสามัคคีและช่วยเหลือเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  ด้วยเดชะเมตตาบารมีของท่านจึงได้ยกท่านให้เป็นเจ้าบ้านหรือเจ้าที่แห่งบ้านทัพคล้ายตั้งแต่บัดนั้นจวบจนถึงบัดนี้ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นเวลาถึง ๒๑๗ ปีแล้ว (เจ้าบ้านหรือเจ้าที่หมายถึงผู้นำหรือผู้ปกครองหรือผู้เป็นใหญ่แห่งหมู่บ้าน)

ความเป็นมาของการสร้างรูปเจ้าบ้าน

เนื่องจากเมื่อวันที่   ๑๕   เมษายน  พ.ศ. ๒๕๔๖   ทางวัดทัพคล้ายได้จัดสร้างรูปเหมือนหลวงปู่ยอดขึ้นและนำไปประดิษฐานไว้ที่ศาลาหลวงปู่ยอดที่สร้างไว้แล้ว ต่อมาเมื่อ วันที่  ๒๐ เมษายน  พ.ศ. ๒๕๔๖  ฝ่าย”จ่ำ”  และ “จ่า”   พร้อมทั้งผู้ที่เป็นผู้นำหมู่บ้านฝั่งหมู่  ๖  ได้ประชุมปรึกษากันถึงการสร้างรูปเหมือนของเจ้าบ้านเพื่อให้เป็นปูชนียบุคคลอันเป็นที่เคารพนับถือของลูกหลานในวันข้างหน้า  และจะได้ระลึกถึงคุณงามความดีของท่านเมื่อครั้งอดีตกาล   ดังนั้นฝ่ายจ่ำและจ่าจึงได้อธิษฐานเสี่ยงทายด้วยการ  “ จับข้าวสาร ”  หากมีความประสงค์จะให้ลูกหลานได้สร้างรูปเหมือนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนตัวท่าน   ก็ขอให้จับข้าวสารได้จำนวนคี่ก็ขอให้ได้จำนวนคี่ทุกครั้ง  ถ้าจับครั้งแรกได้จำนวนคู่ก็ขอให้ได้จำนวนคู่ทุกครั้ง   ผลของการเสี่ยงทายปรากฏว่าจับข้าวสารได้  อันแสดงให้เห็นว่าท่านอนุญาตให้สร้างรูปเหมือนของท่านเพื่อนำไปตั้งไว้ที่ศาลเจ้าบ้านให้ลูกให้หลานและผู้ที่เคารพนับถือได้เคารพนับถือสืบไป

การดำเนินงาน

๑.  เมื่อวันที่   ๒๔  เมษายน  ๒๕๔๖  จ่ำและจ่าได้เรียกประชุมแกนนำของหมู่บ้านทัพคล้าย  หมู่ ๖ ขึ้น โดยมี ครูสิงห์  กสิกรณ์  เป็นตัวแทนของฝั่งหมู่ ๒ เข้าร่วมประชุมด้วย  ในที่ประชุมได้ตกลงกันว่า ให้สร้างรูปเหมือนเจ้าบ้านขึ้นเป็น  ๒  ที่ ทั้งนี้เพราะทั้งหมู่  ๒  และหมู่ ๖  ต่างก็เป็นพี่เป็นน้องกัน    การแยกหมู่บ้านออกเป็นกี่หมู่ก็ตามมิใช่จะทำให้แยกพี่แยกน้องกันแต่อย่างใดทุกคนก็ยังเป็นโคตรตระกูลเดียวกันอยู่นั่นเอง    ดังนั้นการใดที่เป็นกิจสาธารณะก็ย่อมจะต้องกระทำด้วยกันทุกหมู่ทุกเหล่าไปในทางเดียวกันเพราะธรรมเนียมการปิดบ้านเลี้ยงบ้านของชาวทัพคล้ายก็ดำเนินมาพร้อมกันเป็นประจำทุก ๆ  ปี    ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจวบจนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุด้วยผลเช่นนี้ที่ประชุมจึงได้ตกลงให้สร้างรูปเหมือนเจ้าบ้านขึ้น ๒ ที่ดังกล่าว

๒.  ที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้  กิตติพงษ์  จันทร  ประสานกับท่านพระครู (เจ้าอาวาสวัดทัพคล้าย)   เพื่อติดต่อกับช่างเพื่อดำเนินการในการปั้นต่อไป  และให้ครูสิงห์ ฯ  ประสานฝั่งหมู่  ๒ เพื่อแจ้งให้ทราบถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องสร้างรูปเหมือนเจ้าบ้านขึ้นและประสานความร่วมมือในด้านค่าจ้างช่างและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในส่วนที่ฝั่งหมู่  ๒  จะต้องรับผิดชอบ

๓.  แนวทางในการดำเนินงานหลังปั้นเสร็จ  ที่ประชุมก็ตกลงกันว่าการปั้นนั้นจะปั้นที่ใดก็ได้ตามแต่ช่างจะสะดวก  เมื่อปั้นเสร็จ   ก่อนถึงวันเลี้ยงบ้านประจำปี  ๑  วัน     จะต้องเคลื่อนย้ายรูปเหมือนไปยังศาลเจ้าบ้านฝั่งหมู่  ๒   ก่อนเพื่อทำพิธีมอบรูปปั้นให้กับเจ้าบ้านด้วยวิธีจับข้าวสารเสี่ยงทายตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ครั้งโบราณต่อจากนั้นก็เคลื่อนย้ายรูปเหมือนมาตั้งไว้ที่ศาลเจ้าบ้านฝั่งหมู่ ๖  หรือหมู่อื่น ๆ  ตามลำดับ

งบประมาณ

๑. ค่าจ้างช่างในการปั้นคิดรูปละ  ๔,๐๐๐   บาท

๒. งบประมาณที่จะได้รับ

     ๒.๑ เก็บรายหลังคา ๆ ละไม่น้อยกว่า  ๕๐  บาท

     ๒.๒ รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา บริจาคได้ที่   ตาจ่ำ,  ตาจ่า  หรือ หัวหน้ากลุ่ม  ทุกกลุ่ม

หมายเหตุ         

๑. แต่ละหมู่บ้านจะได้เรียกประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดให้ทุกคนได้ทราบอีกครั้งหนึ่ง

๒. สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวทัพคล้ายนอกจากภาษาแล้วไม่ว่าจะแยกหมู่บ้านออกเป็นกี่หมู่ก็ตามแต่ละหมู่บ้านต่างก็มีเจ้าบ้านคนเดียวกัน

๓. หอ  หรือศาล  ที่ตั้งขึ้นเป็นแต่เพียงที่ทำการของเจ้าบ้านที่จะมานั่งว่าราชการหรือเพื่อมาประทับโปรดลูกโปรดหลานให้เกิดความสะดวกสบายไม่ต้องเดินทางไกลเท่านั้นเอง

๔. การยกพานหวานที่ศาลเจ้าบ้านในวันเลี้ยงบ้านจะต้องให้ฝั่งหมู่ ๒ ยกเป็นลำดับแรก หมู่ ๖ เป็นลำดับที่ ๒ และหมู่ ๙  ลำดับถัดไป  มิให้ตรงกันชี้ให้เห็นเป็นข้อสังเกตได้ว่าเจ้าบ้านมีคนเดียว ดังนั้นเมื่อท่านประทับที่ศาล ฝั่งหมู่ ๒   แล้วท่านก็จะเดินทางมาฝั่งหมู่ ๖  ตามลำดับ   และชี้ให้เห็นอีกประการหนึ่งว่าท่านไม่ได้ใช้ตัวแทนแต่อย่างใด  จึงไม่ให้ยกพานหวานพร้อมกัน  ฉะนั้นแล

.

view