วัดทัพคล้าย ต.ทัพลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ประวัติหมู่บ้านทัพคล้าย

ทัพคล้าย–ทุ่งนา–ภูจวง  เป็นชุมชนที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มวัฒนธรรมไทครั่ง(ลาวครั่ง,ลาวเวียง,ลาวกา) 

โดยเล่าสืบทอดต่อกันมาว่า  แต่เดิมบรรพบุรุษของตนมีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และได้อพยพมามายังประเทศไทยเมื่อครั้งเวียงจันทน์ถูกตีแตก  ชาวทัพคล้ายจะเรียกตัวเองว่า ลาวเวียง จากการศึกษาได้สันนิษฐาน

ว่าช่วงเวลาในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของชาวทัพคล้ายอยู่ประมาณปี พ.ศ.  ๒๓๗๒  โดยมีการตั้งบ้านเรือนครั้งแรกที่บริเวณลำห้วยกระเสียว  (ไปทางทิศใต้ในปัจจุบัน)  ในระยะแรกมีเพียง  ๓ - ๔  ครัวเรือน     ต่อมาเมื่อชุมชนขยายตัวจึงมีการตั้งถิ่นฐานอย่างถาวรและมีการสร้างวัดในหมู่บ้านขึ้น  ต่อมาเมื่อตั้งหมู่บ้านได้ประมาณ  ๘๐  ปี (พ.ศ. ๒๔๕๑) ได้เกิดโรคฝีดาษระบาดขึ้นผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก  ต้องนอนบนใบตอง  ถ้านอนบนเสื่อหรือผ้าจะทำให้เนื้อติดผ้าออกมาและเป็นแผลเพิ่มขึ้นอีก

ชาวบ้านส่วนใหญ่  จึงพากันอพยพขึ้นทางเหนือตามลำห้วยไปตั้งชุมชนใหม่อยู่ห่างจากชุมชนเดิมประมาณ  ๑ - ๒  กิโลเมตร  และเรียกชุมชนใหม่นี้ว่า  บ้านใหม่  และเรียกชุมชนเก่าว่า  บ้านเก่า

สถานที่บ้านเก่านั้นต่อมาก็จัดให้ที่เผาศพ หรือเรียกว่า ป่าช้า  จนทางวัดได้ก่อสร้างเมรุเสร็จจึงได้ทำพิธีล้างป่าช้า และใช้เมรุเป็นที่เผาศพมาจนถึงปัจจุบัน

การอพยพไปตั้งบ้านเรือนในบริเวณใหม่ตั้งอยู่บริเวณสองฝั่งของลำห้วยกระเสียว      โดยทางฝั่งตะวันตก  ของลำห้วยกระเสียวมีบ้านเรือนตั้งอยู่หนาแน่นกว่าจึงเรียกว่า  บ้านใหญ่   ส่วนบริเวณตะวันออกนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าและที่ราบทำนาจึงเรียกว่า   บ้านทุ่งนา   แต่คนทั่วไปและทางราชการเรียกหมู่บ้านทั้งสองนี้ว่า   บ้านทัพคล้าย

 สิ่งที่ทำให้เชื่อว่าคำเล่าลือของบรรพบุรุษเป็นจริง  คือ

๑. เงินพดด้วง ซึ่งเป็นเงินที่ใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๑ ที่ปู่ย่าตายายยังเก็บไว้เป็นมรดกมาจนถึงปัจจุบัน

๒. เงินฮาง   ซึ่งเป็นเงินที่ประเทศลาวใช้อยู่ในขณะนั้น  ที่ปูย่าตายายยังเก็บไว้เป็นมรดกสืบมา

๓. ร่องรอยของการตั้งค่ายทหาร  จากการที่ชาวบ้านขุดพบดาบและของ้าว ซึ่งเป็นอาวุธที่ใช้รบในสมัยนั้น

๔. ภาษาถิ่นที่ใช้อยู่  ซึ่งเป็นภาษาลาวเวียงและภาษานี้มีพูดกันมากที่หลวงพระบางประเทศลาวในปัจจุบัน

๕. ขนบธรรมเนียม  และวัฒนธรรมบางอย่าง  เช่น  การแต่งกาย  การทอผ้า   ฯลฯ

๖. เพลงกล่อมเด็กที่ร้องสืบทอดกันมาแต่ครั้งบรรพบุรุษที่ว่า  อึ่งอ่าง ไปเวียงจันทน์  หาพ่อหาแม่  เฮา  บ่ไปดอก   ตากแดดก็กระด้าง  ขางไฟก็ขิวควัน

    และในวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๖ ได้พบเตาโบราณ  ( ติดกับลำห้วยกระเสียว ทางทิศใต้   ๑ กม. ) 

.

view