วัดทัพคล้าย ต.ทัพลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

ประวัติวัดทัพคล้าย

วัดทัพคล้ายตั้งอยู่เลขที่  ๓๑/๑ หมู่ที่  ๖  ต.ทัพหลวง  อ.บ้านไร่  จ.อุทัยธานี  สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย  มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่  ๑๒  ไร่  (น.ส. ๓ ก.) เลขที่  ๑๒๙๗   เล่ม ๑๓  ข.  หน้า ๔๗  เลขที่ดิน  ๓๓  หมายเลข  ๔๙๓๙  แผ่นที่  ๑๓๕ 

เดิมวัดทัพคล้ายตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏชัด แต่ปรากฏตามหลักฐานร่องรอยที่มีและจากคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ได้ความว่า   ได้ก่อตั้งเป็นที่พักสงฆ์ขึ้นครั้งแรก บริเวณบ้านเก่า  (ห่างจากหมู่บ้านในปัจจุบันไปทางทิศใต้ประมาณ ๑ – ๒ กิโลเมตร)     โดยมีพระติดตามญาติโยมมาด้วยตั้งแต่ครั้งมาจากเวียงจันทน์  (ประเทศลาว)

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีทัพพม่ามาประชิดทางชายแดน  ทางไทยจึงได้ยกกองทัพไปต่อต้านทัพพม่า จึงได้เกณฑ์เอาประชาชนชาวลาวที่เป็นเชลยมาครั้งนั้น  เอามาเป็นทหารแนวหน้า เป็นลูกหาบบ้างในการขนเสบียงเรื่อยมาจากทัพละคร  ทัพผึ้ง  ทัพหมัน  ทัพคล้ายและทัพหลวง  ตามลำดับ

การไปช่วยรบและการเดินทางก็มักจะนิมนต์พระไปร่วมขบวนรบด้วยเสมอ  จนมาถึงที่ทัพคล้าย ก็ได้ตั้งค่ายทหารลง  และได้ตั้งทัพอยู่ระยะหนึ่งเมื่อเห็นว่าทัพพม่ามาไม่ถึงแน่  ประกอบกับถึงฤดูน้ำหลากทางทัพไทยจึงได้ยกทัพกลับเมืองหลวง  ผู้ที่มาเป็นลูกหาบได้อาสาเป็นกองสอดแนมตั้งรกรากจนเป็นหมู่บ้านที่มั่นคง  โดยมีพระรูปหนึ่ง คือ หลวงปู่ยอดจำพรรษาอยู่ด้วยกับญาติโยม  ซึ่งที่ตั้งเดิมของหมู่บ้านอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้านและวัดปัจจุบันห่างกันประมาณ ๑- ๒ กิโลเมตรและตั้งอยู่ติดลำห้วยกระเสียวเช่นเดียวกัน     ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงบัดนี้   มีอายุไม่น้อยกว่า   ๒๐๐ ปี

ต่อมาได้อพยพย้ายหมู่บ้านและวัดขึ้นไปทางทิศเหนือ (ปัจจุบัน)   เนื่องจากเกิดน้ำท่วมมาก (ประมาณ ปี พ.ศ. ๒๔๓๕)  จนถึงระดับหลังคาเรือน   และเกิดโรคระบาดคือโรคฝีดาษหรือโรคอีสุกอีใส ผู้เป็นโรคนี้ต้องนอนบนใบตองกล้วยอย่างเดียว    ในคราวเดียวกันนี้ก็ได้ให้ชายฉกรรจ์ว่ายทวนน้ำขึ้นไปดูที่จะตั้งหมู่บ้านใหม่  ขึ้นไปทางทิศเหนือของหมู่บ้าน  จึงพบว่าระดับความลึกของน้ำตื้นกว่าและมีพื้นที่บางส่วนน้ำไม่ท่วมและอยู่ต่อ

มาอีกประมาณ ๙ - ๑๐ ปีประมาณ พ.ศ. ๒๔๔๕  จึงได้พากันอพยพขึ้นมาตั้งบ้านเรือนพร้อมทั้งได้ย้ายศาลาหลวงปู่ยอดมาด้วยพร้อมกันนี้ก็ได้สร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณปัจจุบันติดกับลำห้วยกระเสียวทางด้านทิศตะวันตกของลำห้วย  เมื่อสร้างวัดก็ได้ปลูกต้นโพธิ์เป็นเขตแดนของวัด  และต้นชมพู่ไว้ใกล้กับกุฏิพระซึ่งปรากฏให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน  ( ต้นโพธิ์มี ๔  ต้น ) ตาย  ๑ ต้น ขุดออกทางสาธารณะในปี  พ.ศ.  ๒๕๓๘  อีก ๑ ต้น ซึ่งมีขนาดเท่ากันกับต้นที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน ( ปีพ.ศ. ๒๕๔๐ ได้สร้างศาลาหลวงปู่ยอดเป็นการถาวรไว้ที่หน้าอุโบสถ)

วัดทัพคล้ายได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดโดยถูกต้อง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๘  รวมระยะเวลาถึงปัจจุบันนี้ได้ ๙๗ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๕)  ทางวัดและชาวบ้านก็ได้ร่วมกันพัฒนามาเป็นลำดับตามกำลังศรัทธา

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้สร้างโรงอุโบสถชั่วคราวใช้ในการบรรพชาอุปสมบท จนถึงปี  พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงได้ทำการรื้อถอน เพราะเหตุชำรุดทรุดโทรม  และในปีนี้เอง วัดทัพคล้ายและชาวบ้านได้ดำเนินการถมดิน    และวางศิลาฤกษ์ขึ้นในวันศุกร์ที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒  เวลา ๑๕.๓๒ นาฬิกา ตกเสาเข็มวันที่ ๒๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ เวลา ๐๙.๐๐ น.  การก่อสร้างได้ดำเนินการมาเป็นลำดับโดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านและผู้มีจิตศรัทธา  ดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

บริเวณวัดเป็นที่ราบลุ่มติดลำห้วยกระเสียวจึงมีน้ำท่วมอยู่เสมอในปีที่มีน้ำลากมาก  ปัจจุบันวัดมีสิ่งก่อสร้าง  คือ

         พ.ศ.  ๒๕๑๑     ก่อสร้างศาลาแบบไม้โบราณ

         พ.ศ. ๒๕๐๗     ก่อสร้างกุฎีเจ้าอาวาส

         พ.ศ. ๒๕๒๑     ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา   และก่อสร้างโรงอุโบสถชั่วคราว

         พ.ศ. ๒๕๒๙     ก่อสร้างเมรุ

         พ.ศ. ๒๕๓๒     ก่อสร้างห้องน้ำ- สุขา  ๖  ห้อง

         พ.ศ. ๒๕๓๔     ก่อสร้างศาลาธรรมสังเวช

         พ.ศ. ๒๕๓๙     ก่อสร้างกุฎีสงฆ์ ๕ ห้อง

         พ.ศ. ๒๕๔๑     ก่อสร้างห้องน้ำ ๑๐ ห้อง

         พ.ศ. ๒๕๔๒     วางศิลาฤกษ์   และดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ

         พ.ศ. ๒๕๔๖     ก่อสร้างโรงครัว หลังใหม่  ทางทิศตะวันตก

         พ.ศ. ๒๕๔๗     ก่อสร้างศาลาหลังเล็ก เพิ่มเติม

         พ.ศ. ๒๕๔๗     เริ่มก่อสร้างกุฎีสำนักงาน

         ปัจจุบัน            กำลังดำเนินการก่อสร้างอุโบสถ

สิ่งที่เด่นในหมู่บ้าน คือ  สิ่งทอ เช่น หมอนเท้า  หมอนน้อย   ผ้าอาสนะ  ธง (ทุงโบราณ)  ผ้าห่อคัมภีร์  (รูปแบบโบราณ) เพื่อห่อคัมภีร์สร้างถวายในคติการสร้างธรรมเป็นทาน    พบในวัดนี้เพียงแห่งเดียวสิ่งทอในพระพุทธศาสนาที่พบใน วัดทัพคล้ายนี้ นอกจากจะเป็นมรดกของกลุ่มชาติพันธุ์ไทครั่งแล้วยังเป็น  มรดกร่วมของชนเผ่าไท     และที่สำคัญยังเป็น มรดกโลก   ที่ชนเผ่าไทได้สร้างสรรค์ศิลปสวยบนผืนผ้า แห่งศรัทธาในพระพุทธศาสนาสมควรที่เราคนไทยควรจะได้หาโอกาสไปชื่นชม

ลำดับพระอาจารย์ / เจ้าอาวาสวัดทัพคล้าย

         ๑. พ.ศ.     ๒๔๔๕-๒๔๕๕     พระอาจารย์จูม  จันทร  (ลาสิกขา)

                        ( เป็นประธานสร้างวัดและอยู่วัดเป็นรูปแรก )

         ๒. พ.ศ.     ๒๔๕๖-๒๔๖๐     พระอาจารย์ดี  จันทร  (ลาสิกขา)

         ๓. พ.ศ.     ๒๔๖๑-๒๔๖๓     พระอาจารย์จันทร์  จันทร  (ลาสิกขา)

         ๔. พ.ศ.     ๒๔๖๔-๒๔๖๖     พระอาจารย์สม  จันทร  (ลาสิกขา)

         ๕. พ.ศ.     ๒๔๖๗-๒๔๗๔     พระอาจารย์ผา  จันทร  (ลาสิกขา)

         ๖. พ.ศ.     ๒๔๗๕-๒๔๘๒     พระอาจารย์รอด

         ๗. พ.ศ.     ๒๔๘๓-……….     พระอาจารย์ซ่าน  จำปีขาว (ลาสิกขา)

         ๘. พ.ศ.     ๒๔๙๐-๒๔๙๑     พระอาจารย์จูม  กสิกรณ์ (ลาสิกขา)

         ๙. พ.ศ.     ๒๔๙๒-๒๔๙๗     พระอาจารย์ทองดำ  จันทร   (ลาสิกขา)

         ๑๐. พ.ศ.    ๒๔๙๘-๒๔๙๙    พระอาจารย์แน่น  ป้อมคำ (ลาสิกขา)

         ๑๑. พ.ศ.    ๒๕๐๐-๒๕๑๕     พระอธิการยศ  จิตฺตคตฺโต (ขุนพิลึก)  (ลาสิกขา)

         ๑๒. พ.ศ.    ๒๕๑๖-๒๕๒๑     พระอธิการวีระ  นนฺทโก  (จันทร)

         ๑๓. พ.ศ.    ๒๕๒๒-๒๕๒๔     ………………

         ๑๔. พ.ศ.    ๒๕๒๔-๒๕๒๕     พระอธิการข้อ  โรจนธมฺโม  (เพ็งอุ่น)

         ๑๕. พ.ศ.    ๒๕๒๖-๒๕๒๘     พระมหาพัลลภ  วลฺลโภ   (ลาสิกขา)

         ๑๖. พ.ศ.    ๒๕๒๙-ปัจจุบัน     พระอธิการบัญหาร  ปริสุทฺโธ  (อ่อนศรี)

         ๕   ธันวาคม   พ.ศ.  ๒๕๓๘     ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์  เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสชั้นตรี 

                                                    ที่  พระครูอุทัยสุทธิคุณ

         ๕   ธันวาคม   พ.ศ. ๒๕๔๔      ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นเจ้าคณะตำบลชั้นโท นามเดิม  

                                                    ที่  พระครูอุทัยสุทธิคุณ

         ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๔            ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอบ้านไร่   


.

view