วัดทัพคล้าย ต.ทัพลวง อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี
สร้างเว็บEngine by iGetWeb.com

จุลกฐิน

ความหมายของกฐิน/จุลกฐิน

                      “กฐิน”  แปลว่า  ไม้สะดึง  คือกรอบไม้ชนิดหนึ่งสำหรับขึงผ้าให้ตึง  สะดวกแก่การเย็บ  ในสมัยโบราณเย็บผ้าต้องเอาไม้สะดึงมาขึงผ้าให้ตึงเสียก่อนแล้วจึงเย็บ  เพราะช่างยังไม่มีความชำนาญเหมือนสมัยปัจจุบัน  การทำจีวรในสมัยโบราณจะเป็นผ้ากฐินหรือแม้แต่จีวรอันมิใช่ผ้ากฐิน  ถ้าภิกษุทำเองก็จัดเป็นงานที่เอิกเกริก  เช่น มีตำนานกล่าวว่า เมื่อครั้งพุทธกาล  พระเถรรานุเถระต่างมาช่วยกัน  เป็นต้นว่า  พระสารีบุตร  พระมหาโมคคัลลานะ  พระมหากัสสปะ   แม้พระบรมศาสดาก็เสด็จลงมาช่วยภิกษุสามเณรอื่นๆ ก็ช่วยขวนขวายในการเย็บจีวร  อุบาสกอุบาสิกาก็จัดหาน้ำดื่ม  เป็นต้น  มาถวายพระสงฆ์ 

                 จุลกฐิน แปลว่ากฐินน้อย  คือ  ฐินอย่างหนึ่งซึ่งทุกคนช่วยกันทอให้เป็นผ้า   สังฆาฏิ  จีวร  หรือ สบง  ผืนใดผืนหนึ่งหรือทั้งสามผืนก็ได้ เริ่มตั้งแต่เก็บดอกฝ้าย  อิ้ว   ดีด   ล้อ  เข็น  เปีย  ฆ่าฝ้าย   กวัก   เผี่ยนหลอด   ฮ้นหูก   สืบหูก   กางหูก   ตั่มหูก    ตัดเย็บ   ย้อม   ซัก  และทำผ้าให้แห้ง  โดยให้แล้วเสร็จเป็นผืนภายใน ๑ วัน หรือ ๒๔ ชั่วโมง  แล้วนำไปถวายแด่พระสงฆ์

                    จุลกฐิน คือ คำเรียกการทอดกฐินที่ต้องทำด้วยความรีบด่วน โดยต้องอาศัยความสามัคคีของผู้ศรัทธาจำนวนมาก เพื่อผลิตผ้าไตรจีวรให้สำเร็จด้วยมือภายในวันเดียว กล่าวคือ ต้องเริ่มตั้งแต่เก็บฝ้าย ตัดเย็บ ย้อม และถวายให้พระสงฆ์กรานกฐินให้เสร็จภายในเวลาเช้าวันหนึ่งจนถึงย่ำรุ่งของอีกวันหนึ่ง ดังนั้นโบราณจึงถือกันว่าการทำจุลกฐินมีอานิสงส์มาก  เพราะต้องใช้ความอุตสาหะพยายามมากกว่ากฐินแบบธรรมดา (มหากฐิน) ภายในระยะเวลาอันจำกัด โดยจุลกฐินนี้ปัจจุบันมักจัดเป็นงานใหญ่  มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

                 ประเพณีการทอดจุลกฐินนี้เป็นประเพณีที่พบเฉพาะในประเทศไทย และลาว ไม่ปรากฏประเพณีการทอดกฐินชนิดนี้ในประเทศพุทธเถรวาทประเทศอื่น สำหรับประเทศไทย มีหลักฐานว่ามีการทอดจุลกฐินมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา ดังปรากฏในหนังสือคำให้การชาวกรุงเก่า หน้า ๒๖๘ ว่า "ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ โปรดให้ทำจุลกฐิน" ปัจจุบันประเพณีการทำจุลกฐินนิยมทำกันเฉพาะชุมชนทางภาคเหนือและอีสานเท่านั้น โดยอีสานจะเรียกกฐินชนิดนี้ว่า "กฐินแล่น" (จุลกฐินไม่ใช่ศัพท์ที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก)

จุลกฐินวัดทัพคล้าย

                     จุลกฐินวัดทัพคล้าย หรือประเพณีจุลกฐินวัดทัพคล้ายได้เริ่มต้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๗  ถึงปัจจุบัน  จุลกฐิน  คือ  กระบวนการทอผ้าให้เป็นผืนผ้า  แล้วนำไปตัดเย็นเป็นจีวรถวายพระ (ไปดูเรื่องการทอผ้าอีกครั้ง) หรือไปดูที่  Facebook  วัดทัพคล้าย อ.บ้านไร่

อานิสงส์จุลกฐิน

                      การถวายผ้าจุลกฐินแด่พระสงฆ์ เป็นการถวายสังฆทานทางพระพุทธศาสนาอย่างหนึ่ง นับเป็นมหากุศลอันยิ่งใหญ่ อีกทั้งเป็นการสะสมเสบียงเดินทางอันกันดารในวัฏจักรสงสารไว้สำหรับตนเอง  และผู้ที่ตนเคารพรักและนับถือ นอกจากนี้  ยังเป็นเกราะ เป็นที่พึ่งอาศัยอันเกษม ในภายภาคหน้าจะได้เป็นผู้มั่งคั่งสมบูรณ์ เพิ่มพูนทรัพย์  จะส่งผลต่อบุตรธิดาภรรยาบ่าวไพร่  ให้เป็นคนว่านอนสอนง่าย ไม่มีโรคภัย  ไม่มีอันตรายแก่โภคทรัพย์  ทุกคนจะได้รับบุญบารมี   มีข้าทาสบริวาร มีเคหสถาน  มีเสื้อผ้าอาภรณ์และมีทรัพย์สมบัติไม่ขัดสนในที่สุด


ท่านที่มีจิตศรัทธา

สามารถร่วมทอดผ้าจุลกฐิน เป็นเจ้าภาพโรงทาน หรือไปร่วมงานบุญจุลกฐินวัดทัพคล้าย 

สอบถามรายละเอียดได้ที่วัดทัพคล้าย  โทร. ๐๘๑-๙๔๓-๔๑๑๘ หรือ โทร. ๐๘๑-๐๔๑-๗๘๑๒

หรือโอนเงินเข้าบัญชีวัดทัพคล้าย เลขที่ ๔๑๓ – ๒ – ๓๘๔๕๕ – ๕  ธนาคารทหารไทยจำกัด  สาขาบ้านไร่











.

view